จาก “สุขุมวิท 11” ถึง “รังสิต” ทำไมเวลากะเทยเป็นข่าวถึงดังตลอด?




            หากพูดถึงข่าวเด่นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ “รังสิต” ที่ว่าด้วยนักศึกษารุ่นพี่ทำร้ายร่างกายรุ่นน้องจนเป็นข่าวโด่งดังถึงขนาดที่ว่า #สาดน้ำร้อน ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของประเทศด้วยยอดโพสต์และรีโพสต์ที่สูงเกือบล้าน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น หากย้อนกลับไปในช่วงปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ที่คล้ายๆ กันอย่าง “สุขุมวิท 11”เองก็เป็นข่าวดังระดับปรากฏการณ์ของประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลนี้นำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมข่าวกะเทยจึงเป็นที่สนใจอยู่เสมอ?”

            สังคมไทยเป็นหนึ่งในที่ที่เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีการรับรู้ถึงการมีอยู่ของคนเพศหลากหลายมานานตั้งแต่สมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ชาติเลยทีเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วการเปิดกว้างนั้นไม่ได้มาจากการยอมรับอย่างแท้จริง เพียงแต่เป็นการอดทนและมองข้ามความหลากหลายทางเพศและผลักให้คนเหล่านั้นต้องออกไปสร้างพื้นที่ใหม่ที่ไม่ซ้อนทับกับพื้นที่หลักของสังคมซึ่งเชิดชูระบบสองเพศ ดังจะเห็นได้จากการรับรู้และพูดถึงการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศอยู่เรื่อยมาและส่วนมากไม่ใช่ในทางที่ดีเท่าไรนัก อย่างการจำกัดสิทธิ์บางประการในกฎหมายตราสามดวง ที่ไม่อนุญาตให้กะเทยเป็นพยานเนื่องจากถูกมองว่ากะเทยเป็นพวกโลเลเอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือการตีตรากะเทยว่าเป็นความเจ็บป่วยในช่วงขณะหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งนี่เองที่เป็นสิ่งที่กดทับให้สถานะทางสังคมของคนเพศหลากหลายให้ต่ำกว่าคนที่ทำตัวตรงเพศและผลักไสให้เป็นอื่นไปในสังคมไทยไม่ต่างจากสังคมอื่นๆ

            ด้วยสังคมที่เป็นเช่นนี้ การยอมปล่อยให้ความหลากหลายเหล่านั้นยังปรากฏอยู่ได้จึงมักจะมีกฎเกณฑ์พิเศษหรืออีกมาตรฐานหนึ่งขึ้นมา แล้วความคาดหวังว่าคนเพศหลากหลายนั้นจะต้องอยู่ในศีลธรรมอันดีที่สังคมกำหนดเท่านั้น ว่าง่ายๆ คือ หากคนเพศหลากหลายทำดีอยู่ในร่องในรอยตามขนบสังคม ก็ถือว่าเท่าตัวเพราะพึงกระทำเพื่อชดเชยต่อความผิดแปลกที่ถูกตีตรา แต่เมื่อใดที่คนเพศหลากหลายทำผิด สังคมที่เพ่งเล็งอยู่แล้วก็พร้อมที่จะลงมา“สอดส่อง”มากเป็นพิเศษ ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปยังคำถามข้างต้นแล้ว คำถามที่จะเจาะจงชัดเจนกว่านั้นจึงเป็นคำถามที่ว่า “ทำไมข่าวกะเทยที่เป็นไปในเชิงลบมักจะเป็นที่สนใจมากกว่า?”

อย่างเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้นบ้างแล้วอย่างสุขุมวิท 11 ที่นอกจากจะฉายภาพความรุนแรงแล้วยังตีแผ่พื้นที่สีเทาเข้มอย่างการขายบริการทางเพศและแรงงานต่างด้าวให้ขึ้นมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันบนดิน ในขณะที่ความเห็นในอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะเฟสบุ๊คนั้นส่วนมากจะเป็นไปในทางลบและแฝงไปด้วยอคติ ทั้งการเล่นมุขเหยียดเพศ การล้อเลียนอัตลักษณ์ของผู้ที่มีส่วนร่วม และการสร้างมีมอินเตอร์เน็ตขึ้นมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่สื่อข่าวเองก็ยังคงนำเสนอเหตุการณ์นี้โดยเน้นย้ำไปที่เพศสภาพอย่างออกรส

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง?

ตัวอย่างจากเหตุการณ์ล่าสุดอย่าง“รังสิต”ที่ผู้ก่อเหตุเป็นคนเพศหลากหลาย แน่นอนว่าสังคมไม่รอช้าที่จะเข้าไปมุงดูกันอย่างล้นหลาม และไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้องตามมาด้วยความคิดเห็นและถ้อยคำที่แฝงอคติต่อความหลากหลายทางเพศปะปนมาด้วย แต่ที่น่าสนใจคือ ในเหตุการณ์นี้“พี่กะเทย”ที่ต่างพร้อมใจกันนัดหมายผ่านทางโซเชียลมีเดียเพื่อรวมตัวกันออกมาปกป้องเหยื่อรุ่นน้องจนเกิดเหตุการณ์ล้อมคอนโด จึงทำให้กระแสความเกลียดชังต่อความหลากหลายทางเพศพอจะลดทอนลงไปได้ แต่ถึงอย่างนั้น เหตุการณ์นี้กลับตอกย้ำว่า ความหลากหลายทางเพศนั้นถูกคาดหวังให้อยู่ในร่องในรอยหรือกรอบคุณธรรมอย่างเคร่งครัดมากกว่าปกติ

ทว่า สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยคือภาพความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทันใจ หรือไม่อาจคาดหวังให้เป็นพี่พึ่งได้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แถมยังกลับตกต่ำลง การพากันไปรุมล้อมหอพักของผู้ต้องหานั้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างชั้นดีที่แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจที่ติดลบของสังคมที่มีต่อกระบวนการทางกฎหมาย จนทำให้ผู้คนต่างพากันหวังพึ่งระบบศาลเตี้ยแบบไทยๆ ที่ต้องพึ่งพาทนายหน้าสื่อและอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อให้มีพลังจากสังคมไปจี้การทำงานของผู้มีอำนาจ เราเองก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของผู้มีชื่อเสียงในรูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวการสังคมที่ดี เพราะทำให้ผู้ที่ไร้พลังอำนาจได้มีโอกาสทวงคืนสิ่งที่เสียไปบ้าง แต่ความจริงแล้วการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น ปรากฏการณ์แบบนี้เป็นการย้ำภาพจำเดิมว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่เดินหากเรื่องไม่ดัง จนอาจนำไปสู่การล่มสลายในเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในที่สุด

การคาดหวังให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มชนใดๆ อยู่ในกรอบคุณธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และออกจะเป็นสิ่งที่พึงกระทำด้วยซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับความคาดหวังนั้นแปรผันไปตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเพศสภาพและความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นอะไรที่ไม่ยุติธรรมอย่างมาก เพราะความหลากหลายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ การที่คนๆ หนึ่งมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างไม่ใช่สิ่งที่คนนั้นเลือกได้ การมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ขึ้นลงตามปัจจัยที่เลือกไม่ได้นั้นจึงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก

จะดีกว่าไหม หากสังคมมองคนโดยไม่ตัดสินจากสิ่งที่คนๆ นั้นเป็น แต่เป็นการมองตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง อย่างเหตุการณ์“รังสิต”นี้ เราสามารถที่จะวิจารณ์ประเด็นความรุนแรง, SOTUS หรือการใช้อำนาจได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกว่าผู้ก่อเหตุเป็น LGBT ด้วยซ้ำ



ผู้เขียน: นรเศรษฐ์ พัฒนางกูร