Myth : ทำไมคนถึงเชื่อว่า... การข้ามเพศเป็นเพียงกระแส




            แม้ว่าสังคมไทยจะคุ้นชินอยู่กับความหลากหลายทางเพศมานาน แต่มุมมองที่มีต่อคนเพศหลากหลาย โดยเฉพาะคนข้ามเพศนั้นกลับไม่ใช่อะไรที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะประเด็นเรื่องการข้ามเพศยังเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงหลักในสังคม เช่น ภาพลักษณ์ของคนข้าวเพศในสื่อ ประเด็นความเดือดร้อนของคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นผลจาก Myth หรือความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศที่ว่า “การข้ามเพศเป็นเพียงการทำตามกระแส”


อะไรทำให้หลายคนเชื่อแบบนั้น

            อย่างที่กล่าวไปข้างต้นบ้างแล้วว่า สื่อนั้นมีผลอย่างมากต่อการสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจที่มีต่อคนข้ามเพศและความหลากหลายอื่น ๆ หากย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว แม้ว่าสื่อต่างๆจะไม่ได้นำเสนอมากนัก แต่ทุกครั้งที่มีการนำเสนอคนเพศหลากหลายและคนข้ามเพศนั้น ก็มักจะเหมารวมกันไปด้วยคำเรียกที่คุ้นเคยอย่าง “กะเทย” อีกทั้งยังนำเสนอออกไปในทางตลกขบขัน หรือหากคนข้ามเพศมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นร้อนแรงในขณะนั้น ก็จะถูกนำเสนอไปในเชิงรุนแรง จนติดเป็นภาพลักษณ์ว่า คนข้ามเพศเป็นคนที่ต้องแสดงออกอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ติดตลก

ทว่าเมื่อยุคสมัยเริ่มผ่านไป ประเด็นเรื่องเพศนั้นเริ่มเปลี่ยนมาเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เกิดเป็นข้อถกเถียงต่างๆมากมายซึ่งหนึ่งในนั้นคือการนำเสนอคนข้ามเพศในฐานะประเด็นสังคมและความเป็นมนุษย์ นี่เองจึงทำให้สื่อต่าง ๆ มีการนำเสนอเกี่ยวกับคนข้ามเพศที่มากขึ้น ซึ่งยังเป็นไปในทางที่ดีขึ้นเนื่องจากการเฝ้าระวังและตรวจสอบจากหลายฝ่ายเพื่อไม่ให้มีการนำเสนอคนข้ามเพศในทางที่ผิด เช่น ตัวละครที่เป็นคนข้ามเพศหลาย ๆ คนได้รับบทที่ดีขึ้น เช่น ตัวละคร พรเลิศ ในละครหวานรักต้องห้าม ที่เป็นหญิงข้ามเพศและแม่ ซึ่งการนำเสนอของละครนั้นนับว่าทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว หรือการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวหลาย ๆ ครั้ง เช่น การนำเสนอข่าวการเดิน Bangkok Pride ทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสื่อนั้นได้ทำให้ขบวน Pride กลายเป็นที่โด่งดังในระดับประเทศหรือกระทั่งระดับโลก และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างภาพจำด้านความเป็นมิตรต่อชุมชน LGBTQINA+ ของประเทศไทย

            แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมส่วนใหญ่นั้นยังคงมีภาพจำต่อคนข้ามเพศในเชิงอคติ ทั้งเนื่องจากภาพจำจากสื่อยุคเก่าที่ดูตลกขบขันหรือแม้แต่สื่อในปัจจุบันที่บางครั้งก็มีการนำเสนอในเชิงลบอยู่บ้างเพื่อเรียกกระแส แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือระบบสองเพศที่ปลูกฝังในสังคมมายาวนานจนทำให้ผู้คนเคยชินกับความเป็นชายหญิงตรงเพศในฐานะของความจริงหรือความเป็นธรรมชาติ และผลักดันความหลากหลายอื่นๆ ให้ออกไปเป็นอื่น ซึ่งส่งผลให้การได้พื้นที่ความสนใจเพิ่มขึ้นของคนข้ามเพศนั้นดูเป็นเพียงเรื่องไร้สาระหรือกระแสของความพยายามที่จะฝืนธรรมชาติ บ่อยครั้งการได้พื้นที่ดังกล่าวสร้างเสียงพึมพำในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายครั้งที่สังคมเกิดความไม่พอใจเมื่อมีการนำเสนอตัวละครที่เป็นคนข้ามเพศ หรือมีความเห็นในเชิงเบื่อหน่ายเมื่อมีการเรียกร้องหรืออธิบายความเข้าใจที่ถูกต้อง


ทำไมความเชื่อผิด ๆ นี้จึงกระทบต่อคนข้ามเพศ

            ปัญหาหลักของการถูกด้อยคุณค่าลง นั่นคือ การที่ความเดือดร้อนของคนข้ามเพศนั้นถูกลดความสำคัญลงหรือถูกมองข้าม เนื่องจากการถูกมองว่าเป็นกระแสนั้นคือความนิยมชั่วคราว ปัญหาของคนข้ามเพศจึงถูกมองเป็นการอินกับกระแสมากกว่า ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ กรณีของคำนำหน้านามที่มีการเรียกร้องกันมาอย่างยาวนาน สิ่งที่มักจะตามมาคือเสียงของความไม่พอใจจากสังคมในเชิงไม่จำเป็นและไม่ต้องการให้คนข้ามเพศได้รับสิทธิ์นี้ ในเวทีเสวนา “การรับรองเพศสภาพของบุคคลในประเทศไทย : เราสามารถกำหนดเพศด้วยตนเองได้หรือไม่” ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนของความคิดเห็นจากผู้ชมนั้นเป็นไปในทางเดียวกันคือการไม่เห็นด้วย มองว่าสิ่งที่คนข้ามเพศอยากได้นั้นเป็นเพียงการเอาแต่ใจ โดยยกเอาปัญหาของผู้หญิงตรงเพศหรือมาตรฐานของสังคมส่วนใหญ่ที่เชิดชูระบบสองเพศมาอ้างอิง

            หรือหากมองย้อนกลับไปดูภาพลักษณ์ของคนข้ามเพศในสมัยก่อน ภาพลักษณ์ที่ดูง่าย ๆ ตลก ๆ เองก็เป็นทั้งเหตุและผลที่ทำให้คนมักจะคิดว่าการข้ามเพศนั้นคือการกระทำที่เอาฮา อยากฉีก อยากแตกต่าง อย่างเช่น ตัวละครที่เป็นคนข้ามเพศในภาพยนตร์ของพจน์ อานนท์แทบทุกเรื่องที่มักจะได้รับบทที่ชวนขบขันในระดับที่เกินจริงไปมาก ในขณะที่คนข้ามเพศที่มีชีวิตอยู่จริงนั้นต่างก็ใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งภาพจำนี้ก็ได้สร้างปัญหาอย่างที่กล่าวมาแล้ว


ความเป็นจริง

            การข้ามเพศนั้นแท้จริงแล้วมีประวัติที่ยาวนาน เฉพาะแค่ในประเทศไทยนั้นสามารถย้อนความกลับไปได้ถึงตำนานของชาวล้านนา และมีปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์อยู่เรื่อยมา กระทั่งเกิดเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้สังคมได้เห็นถึงความเป็นจริงและสิ่งที่คนข้ามเพศถูกกระทำมาตลอด (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ A brief history of Katoey and Gender diversity in Thailand) อีกทั้งความหลากหลายทางเพศนั้นถูกยกให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญในระดับนานาชาติที่ต้องขับเคลื่อนไปเพื่อให้เกิดการเคารพในสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง เนื่องจากในปัจจุบัน แม้ว่าจะจะมีกฎหมายหรือข้อบัญญัติมากมายที่ออกมาสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนเพศหลากหลายยังต้องเผชิญกับความยากลำบากจากอคติและการเลือกปฏิบัติจากสังคม อาทิ การถูกบังคับให้ออกจากงาน การถูกต่อต้านจากครอบครัว เป็นต้น ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้น ความหลากหลายทางเพศที่ถูกดึงขึ้นมาเป็นประเด็นนั้นจึงไม่ใช่เพียงกระแสที่เพิ่งได้รับความนิยมชั่วคราว แต่เป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

            แน่นอนว่าความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ดูเหมือนกระแสนี้เป็นผลผลิตของความพยายามจากหลายฝ่าย ทั้งภาคประชาสังคม ภาครัฐบางหน่วยงาน ชุนชนคนข้ามเพศ และประชาชนที่เข้าใจในประเด็นนี้ ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้จะยังมีเสียงอึงอลของความกังวลอยู่ไม่น้อย แต่การทำงานของทุกฝ่ายนั้นจะยังคงเดินหน้าเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศต่อไป


อ้างอิง

ชีรา ทองกระจาย. 2023. จาก “กะเทย” สู่ “ผู้หญิงข้ามเพศ”การเปลี่ยนแปลงเชิงวาทกรรมว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในสังคมไทย. มานุษยวิทยา, 6(1), 143-182. สืบค้นจาก https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jasac/article/view/266735/178552


ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์. (25 พฤษภาคม 2564). สนทนาว่าด้วย transgender และ นางงาม ในสังคมไทย กับ โกโก้-กวินตรา เทียมไสย์ หญิงข้ามเพศที่อยากเปลี่ยนสังคมให้เท่าเทียม. The101World. https://www.the101.world/kavindhra-tiamsai-interview/

Matthew Phares. (6 February 2020). History of LGBTQ+ Representation in Media. Matthew Phares’ Civic Issue Blog. https://sites.psu.edu/phares01/2020/02/06/history-of-lgbtq-representation-in-media/#:~:text=This%20report%20essentially%20showcases%20trends,to%20be%20out%20as%20queer


ผู้เขียน: นรเศรษฐ์ พัฒนางกูร