จากวันนั้น....ถึงวันนี้ของคนข้ามเพศกับการเกณฑ์ทหาร





💜ความเป็นมา กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง💜
พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 และกฎกระทรวงกลาโหมฉบับที่ 75 กำหนดให้บุคคลที่มีเพศกำเนิดชายและมีสัญชาติไทย เมื่ออายุครบ 21 ปี บริบูรณ์มีหน้าที่ไปเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ จากข้อกำหนดดังกล่าว บุคคลที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่มีการดำเนินวิถีชีวิตเป็นคนข้ามเพศ  หรือบุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จำเป็นต้องเข้ารับการการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ เช่นเดียวกัน

💜บันทึกผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
ในอดีตที่ผ่านมา เอกสารบันทึกผลการตรวจเลือก (เอกสารสด.43) สำหรับบุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด มักถูกระบุด้วยถ้อยคำที่ลดทอนศักดิ์ศรี และละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น โรคจิตวิปริต โรควิกลจริตรุนแรง เป็นต้น การระบุด้วยถ้อยคำดังกล่าวในเอกสารสด.43 ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของบุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด เนื่องจากการระบุว่าเป็น “โรคจิต” ทำให้มีสถานะเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถอาจถูกโต้แย้งสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย รวมทั้งการถูกปฏิเสธไม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเมื่อสมัครเข้าทำงานส่งผลกระทบต่อสิทธิในการประกอบอาชีพและการมีงานทำ

💜คนข้ามเพศ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนเอกสารบันทึกผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน(สด.43) 
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 บุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี เอกสารบันทึกผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหาร(สด.43) ของตนที่ถูกระบุว่า“โรคจิตถาวร”เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในส่วนที่ระบุว่าผู้ฟ้องคดี“เป็นโรคจิตถาวร” 

💜รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน สัสดีจังหวัดลพบุรี ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนเอกสาร สด.43 และแก้ไขระเบียบกฎหมาย ที่ระบุว่าเป็น “โรคจิตถาวร”
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบสด.43 ใบสด.5 และใบสด.9 ของคนข้ามเพศ เฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่า“เป็นโรคจิตถาวร”และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการให้มีการระบุข้อความใหม่ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่บ่งบอกถึงลักษณะของผู้ฟ้องคดีขณะเข้ารับการตรวจเลือกที่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจเข้ารับราชการทหารได้ตามที่กฎหมายกำหนด
กระทรวงกลาโหมได้ประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 75 ในปี พ.ศ.2555 ให้เพิ่มเติมข้อ(12) “ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ของวรรคสามในข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่37 (พ.ศ.2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ.2597 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่43 (พ.ศ.2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหารพ.ศ.2497 เพื่อนำมาแก้ไขเอกสารสด.43 ของผู้ฟ้อง ตลอดจนนำมาปฏิบัติกับบุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารประจำปี...

💜แนวปฏิบัติของกระทรวงกลาโหมตามคำพิพากษาศาลปกครอง
บุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือ คนข้ามเพศ ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกินเพื่อเข้ารับราชการกองประจำการ แต่ต้องตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกหทารเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ตามประกาศของกองทัพบกเรื่อง การตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกฯ ที่ระบุว่า ผู้ที่อยู่ในกำหนดเรียกเข้ารับการตรวจเลือกฯของแต่ละปี ผู้ใดที่เห็นว่าตนเองมีโรคหรือสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ ให้ไปขอรับการตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการได้ที่โรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ  26 แห่งทั่วประเทศ ตามวันและเวลาราชการที่กำหนด
สำหรับทหารกองเกิน ที่มีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นหญิงที่ยังไม่ได้แปลงเพศ หรือไม่ได้ปรับเปลี่ยนร่างกายสามารถขอรับการตจรวจร่างกาย โดยนำหลักฐานใบแสดงการตรวจโรค ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน, รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป, หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัว, ชื่อสกุล ฉบับจริง, ใบสำคัญ (แบบ สด.9) และหมายเรียกเข้านรับราชการทหาร (แบบ สด.35) ได้ที่โรงพยาบาล หรือสถาบันทางการแพทย์ของรัฐ ที่มีแพทย์ทางจิตเวชเป็นผู้วินิจฉัย นอกเหนือ จากโรงพยาบาล ในสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ที่มีแผนกจิตเวช

💜บทสรุป
บุคคลที่มีเพศกำเนิดชายแต่มีการดำเนินวิถีชีวิตเป็นหญิงข้ามเพศมีหน้าที่ไปเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ จำเป็นต้องไปตรวจร่างกายและตรวจจิตเวช โดยโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพบก แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลอื่นๆนอกเหนือจากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเอง และนำใบรับรองแพทย์มาแสดงตนในวันที่ตนเองเข้ารับการตรวจเลือกฯต่อคณะกรรมการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หลังจากนั้นก็จะได้รับเอกสารบันทึกผลการตรวจเลือกฯ(สด.43) ระบุว่า “บุคคลที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” 

💜เอกสารอ้างอิง
1) คำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขดำที่ 2118/2549 หมายเลขคดีแดงที่ 1540/2554
2) กฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 75(พ.ศ.2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497
3) ประกาศของกองทัพบก เรื่อง การตรวจโรคก่อนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2566 ที่ กห 0462/3495 ลงวันที่ 29 กันยายน 2566

🩷บทความโดย:จันทร์จิรา บุญประเสริฐ/มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

#เกณฑ์ทหาร67